พิมพ์ลายมือตัวเองเพื่อแสดงว่าเป็นลายมือพิมพ์มือคนอื่นมีความผิดฐานใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2830/2524

จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐ โดยเป็นเสมียนสถานธนานุเคราะห์สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ มีหน้าที่เขียนตั๋วรับจำนำ จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือของตนในตั๋วรับจำนำ ซึ่งมีชื่อผู้อื่นเป็นผู้จำนำ แสดงออกว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้จำนำ มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ

พฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 2 ปลอมตั๋วรับจำนำ แสดงว่ามีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานธนานุเคราะห์กรมประชาสงเคราะห์ จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 อีกบทหนึ่งด้วย

คดีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502มาตรา 11 พนักงานอัยการไม่มีสิทธิขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำพิพากษาฎีกาย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 3 คนซึ่งเป็นพนักงานในหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจ สถานธนานุเคราะห์ 5 สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ ได้ร่วมกันปลอมตั๋วรับจำนำซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการของสำนักงานธนานุเคราะห์รวม 536 ฉบับ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าตั๋วรับจำนำดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน หรือกรมประชาสงเคราะห์ ทั้งจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันนำตั๋วรับจำนำปลอมดังกล่าวเบิกเงินค่ารับจำนำของสำนักงานธนานุเคราะห์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยกับพวก เบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์คิดรวมทั้งดอกเบี้ยแล้ว เป็นเงิน 3,187,933.75 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 264, 265, 266, 268, 83 และสั่งให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนเงิน 3,187,933.75 บาท แก่สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ด้วย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 83 เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานฯ มาตรา 4 นั้น จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้สนับสนุนจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 2,999,400 บาท แก่สำนักงานธนานุเคราะห์กรมประชาสงเคราะห์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อกล่าวหา ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 นั้นโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับนางสิเนห์ยักยอกทรัพย์สิ่งของที่รับจำนำ แต่ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2พิมพ์ลายนิ้วมือของตนในตั๋วรับจำนำซึ่งมีชื่อผู้อื่นเป็นผู้จำนำจำนวนมาก ตั๋วรับจำนำบางฉบับจำเลยที่ 2 เป็นผู้กรอกข้อความเองการที่จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือแสดงออกว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้รับจำนำเช่นนั้นย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิซึ่งความผิดฐานนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้เพียงพอที่จำเลยที่ 2จะเข้าใจข้อหาได้แล้วหาเป็นฟ้องที่คลุมเครือดังจำเลยที่ 2 ฎีกาไม่การจำนำทรัพย์สิ่งของนั้นได้ความว่า มีระเบียบห้ามพนักงานของสถานธนานุเคราะห์นั้นเป็นผู้จำนำ และตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าตั๋วรับจำนำที่มีลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวนั้น ผู้ใดแสดงตนเป็นผู้จำนำและจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการใช้ตั๋วรับจำนำนั้นอย่างไร จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมแต่โดยเหตุที่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เขียนตั๋วรับจำนำพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ปลอมตั๋วรับจำนำดังกล่าวเห็นได้ว่ามีเจตนาทุจริตการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานธนานุเคราะห์กรมประชาสงเคราะห์ แต่ความผิดทั้งสองฐานนี้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหาย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะมาตรา 265 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502เฉพาะมาตรา 11 ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 11 ดังกล่าวซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี คำขอให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายให้ยกเสีย

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่