สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เจ้าหนี้ไม่ได้ส่งหนังสือทวงหนี้ให้แก่ผู้ค้ำประกันจะมีผลอย่างไร

ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงได้ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวด้วยสัญญาค้ำประกันกันมาบ้างแล้วใช่หรือไม่
กฎหมายแก้ไขใหม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ปฎิบัติตามกฎหมาย กล่าวคือ  เจ้าหนี้จะต้องบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันทราบว่า ลูกหนี้ผิดนัดแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ โดยอาจจะชำระหนี้เป็นก้อนหรือสามารถใช้สิทธิในการชำระที่ลูกหนี้เคยได้ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ได้ ซึ่งเจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน ๖๐ วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ แต่หากว่าเจ้าหนี้ได้บอกกล่าวพ้นกำหนดเวลา ๖๐ วัน เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีกับผู้ค้ำประกันได้ แต่จะไม่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โดยเจ้าหนี้มีสิทธิเพียงได้รับเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงค่าภาระติดพัน จำนวน ๖๐ วันเท่านั้น ดังนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้บอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันว่าลูกหนี้ผิดนัดเป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ใหม่ บัญญัติอยู่ในมาตรา ๖๘๖ ดังนี้
“มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับเจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้  ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา 701 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้
การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693”
ตามบัญญัติดังกล่าว ซึ่งวรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ไปถึง” นั้นหมายความว่า เจ้าหนี้ต้องส่งจดหมายทวงถามให้ผู้ค้ำประกันทราบว่าลูกหนี้ผิดนัด แม้จดหมายจะตีกลับ เพราะไม่มีผู้รับจดหมาย ก็ถือว่าเป็นการส่งหนังสือให้แก่ผู้ค้ำประกันแล้ว แต่หากว่าเจ้าหนี้ไม่ได้ส่งหนังสือทวงถามให้แก่ผู้ค้ำประกันแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันได้
ดังนั้น เจ้าหนี้ต้องส่งหนังสือทวงถามให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ก่อนที่จะฟ้องคดีต่อผู้ค้ำประกัน มิฉะนั้นแล้ว เจ้าหนี้ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันได้


คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง


ฎ.3784/2562 ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกัน ตามบัญญัติแห่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น ดังนี้ ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนมีหนังสือบอกกล่าวไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้

 

บทความที่น่าสนใจ

-ขายรถที่เช่าซื้อควรเปลี่ยนสัญญาหรือไม่

-ชำระหนี้จำนองแทนแล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้

-สร้างอาคารในระหว่างรอจดทะเบียนโอนอาคารเป็นของใคร

-มีสิทธิสร้างตึกแถวตามสัญญา ตึกแถวเป็นของใคร

-ต่างฝ่ายต่างประมาทบริษัทประกันภัยต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด

-รถหายภายในห้างห้างต้องรับผิดชอบหรือไม่เพียงใด

-ลูกวงแชร์มีสิทธิฟ้องนายวงแชร์ได้หรือไม่

-เมาแล้วขับเอารถยนต์ชนท้ายรถยนต์ของผู้อื่น

-เมื่อผู้ค้ำประกันไม่ได้รับหนังสือทวงถามจะมีผลอย่างไร