ไม่ได้จดทะเบียนสมรสบิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ |
---|
ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของพ่อแม่ที่มีปัญหาทางด้านครอบครัวที่ต้องแยกทางกันเพราะหลายปัจจัย ซึ่งเหตุแห่งการแยกทางกันนั้นเป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลไป การแยกทางกันเป็นเหตุให้ต้องมาพิจารณาว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจะเรียกเอาจากผู้เป็นพ่อได้หรือไม่ หลักเกณฑ์การที่กฎหมายกำหนดในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ในมาตรา ๑๕๖๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติว่า คำว่า บิดา นั้น กฎหมายกำหนดว่าจะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือต้องจดทะเบียนสมรสกับมารดาเด็ก หรือต้องร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรของขาย จึงจะทำให้บิดาเกิดหน้าที่ในการที่ต้องอปุการะเลี้ยงดูบุตรได้ หากมีข้อเท็จจริงเพียงว่า บิดาให้ใช้นามสกุล บิดาส่งเสียเลี้ยงดูในค่าเล่าเรียน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาบิดาและมารดาแยกทางกัน มารดาจะฟ้องให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเพียงข้อหาเดียวไม่ได้ แต่มารดาจะต้องฟ้องบิดาให้รับเด็กเป็นบุตรและฟ้องให้ชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรด้วย จึงจะสามารถเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากฝ่ายชายได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548 ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1563 และมาตรา 1564 บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ คำพิพากษาตัวเต็ม |
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายพงษ์เทพ พัฒโนทัย ผู้เป็นบิดาได้รับรองแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2542 ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81 - 0304 นครสวรรค์ ไปในทางการที่จ้างของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บง - 1797 อุทัยธานี ซึ่งมีนายพงษ์เทพโดยสารมาและนายพงษ์เทพถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อนายพงษ์เทพ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 3 ว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ตามมาตรา 1629 (1) นั้นจะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดเพราะเหตุที่การตายลงนั้นทำให้ตนต้องขาดไร้อุปการะหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม นั้น กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้น แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 และมาตรา 1564 บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึงบุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา บุตรนอกกฎหมายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดให้บิดาตนถึงแก่ความตายได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้และมิได้ยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ก็เห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น"
บทความอื่นที่น่าสนใจ- หากแกล้งไปจดทะเบียนหย่า จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร -หลักเกณฑ์การรับและเลิกรับบุตรธรรมจะเป็นอย่างไร -ฟ้องหย่าเพราะสามีหรือภริยามีชู้ -ไปทำงานที่อื่นไม่ยอมกลับมาดูแลภริยาและลูกฟ้องหย่าได - ชอบดื่มสุรา กลับบ้านดึก ด่าว่าหยาบคาย ฟ้องหย่าได้ |