สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามไม่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แล้วโอนผลเป็นอย่างไร

ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาท เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินที่จะบังคับคดีได้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาท ปรากฏว่าในวันเดียวกันเจ้าพนักงานที่ดินได้รับหมายคุ้มครองชั่วคราวตามคำสั่งของศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่คุ้มครองชั่วคราวนี้มีผลใช้บังคับในวันดังกล่าวแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 258 วรรคสาม ดังนั้นการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นภายหลังที่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมีผลใช้บังคับแล้วจึงไม่อาจใช้ยันต่อโจทก์ได้ แม้จำเลยที่ 2 จะได้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 258 ทวิ วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2551

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 19655 ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยให้โอนที่ดินดังกล่าวกลับเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามเดิม

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 19655 ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2545 ระหว่างจำเลยทั้งสอง โดยให้โอนที่ดินดังกล่าวกลับเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ตามเดิม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2535 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2143 ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ (ซึ่งได้เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 19655 ตำบลผักปัง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) จากจำเลยที่ 1 และดาบตำรวจวิเชียรในราคา 130,000 บาท โจทก์วางมัดจำในวันทำสัญญา 75,500 บาท ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2545 โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน และในวันที่ 12 กันยายน 2545 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินมัดจำค่าที่ดิน ในระหว่างพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 โอนขายหรือจำหน่ายที่ดินดังกล่าว วันที่ 13 กันยายน 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกดาบตำรวจวิเชียร ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2545 จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

 

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ระหว่างศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้หรือไม่นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้ในประเด็นว่า การซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายโดยชอบเสียค่าตอบแทนและสุจริตหรือไม่ และโจทก์ก็อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งจำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตและสมคบกับจำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้นั้น เห็นว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์ โดยห้ามมิให้จำเลยที่ 1 โอนขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทอ้างว่า หากโจทก์ชนะคดีแล้วจะไม่สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 โอนขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาท นับแต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว ได้รับหมาย ซึ่งเป็นคำขอและคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (3) และ 255 (3) (ก) ปรากฏว่านายวีรศักดิ์เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว ได้รับหมายคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 จึงต้องถือว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวเกี่ยวกับห้ามจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 258 วรรคสาม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันที่ 18 ตุลาคม 2545 ภายหลังที่ศาลชั้นต้นสั่งห้ามโอนที่ดินที่มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงหาอาจนำมาใช้ยันกับโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 258 ทวิ วรรคสอง เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนในวันที่ 18 ตุลาคม 2545 แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจจะนำมาเป็นข้ออ้างยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 258 ทวิ วรรคสอง ดังกล่าว ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

บทความที่น่าสนใจ

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ทำบันทึกข้อตกลงหย่ากันแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า

- ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นสินสอด

- ไม่ได้จดทะเบียนสมรสบิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่

- สัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสไม่ได้ยินยอมด้วย ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร

-เลิกจ้างแล้วมีสิทธิได้ค่าชดเชย

-เลิกจ้างได้ค่าชดเชยอย่างไรและเงื่อนไขการได้ค่าชดเชย

-ทะเลาวิวาทกันเกี่ยวกับการทำงานนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหาย มีความผิดต้องโทษจำคุก