การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด |
---|
การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2562 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายที่ 2 เพียงผู้เดียวที่ประสบเหตุการณ์รายนี้เป็นพยาน แต่ขณะเกิดเหตุครั้งแรกผู้เสียหายที่ 2 มีอายุเพียง 12 ปี และกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งไม่ปรากฏเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 มีรายละเอียดลำดับเรื่องราวเช่นเดียวกับบันทึกคำให้การ ลำดับเรื่องราวเชื่อมโยงกันสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้อยคำไม่มีข้อพิรุธให้ระแวงสงสัยว่าผู้เสียหายที่ 2 จะนึกคิดเสริมแต่งเรื่องราว ขึ้นมาปรักปรำผู้ใดให้ต้องรับโทษ อีกทั้งโจทก์ยังมีหลักฐานนาฬิกาข้อมือแบบผู้หญิง 2 |
เรือน ที่นาย พ. ตาผู้เสียหายที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน ยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้มอบนาฬิกาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไว้ใช้งาน โดยเฉพาะซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 2 มีรายการบันทึกหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่มีชื่อจำเลยไว้ 5 หมายเลข ซึ่งโจทก์มีพันตำรวจโท ท. พนักงานสอบสวนเบิกความรับรองว่ามีหมายเลขโทรศัพท์บันทึกชื่อจำเลยจริง เมื่อพิจารณาจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับโทรศัพท์เคลื่อนที่และนาฬิกาที่เป็นสิ่งของมีค่าจากจำเลยเกินกว่าปกติของคนที่รู้จักกันธรรมดา ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยต้องมีความสัมพันธ์พิเศษต่อกัน ยิ่งกว่านั้นตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์หญิง ป. ผลการตรวจห้องปฏิบัติการระบุว่า ตรวจพบสารประกอบในน้ำอสุจิ (แอซิคฟอสฟาเตส) บริเวณปากช่องคลอด ตรวจไม่พบตัวอสุจิ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกินสิบสามปีรวม 3 ครั้ง และกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกินสิบห้าปี 1 ครั้ง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสามประกอบมาตรา 80 และมาตรา 279 วรรคแรก สำหรับพฤติการณ์คดีที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ร้านจำเลยเอง แล้วจำเลยถึงล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 ที่ร้านจำเลยนั้น จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปร้านจำเลยแต่อย่างใด จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร แต่การที่จำเลยพยายามกระทำชำเรารวม 3 ครั้ง และกระทำอนาจารเอาแก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นการกระทบต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมให้จำเลยกระทำก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นมารดา การกระทำของจำเลยถือได้ว่า เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ในส่วนค่าเสียหายทางแพ่งที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถือว่าเป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนวันทำละเมิดครั้งแรกนั้นผู้เสียหายที่ 2 ระบุว่าประมาณกลางเดือนตุลาคม 2554 ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นวันที่เท่าใด จึงเห็นสมควรให้นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป แม้ผู้ร้องที่ 2 ตามรูปคดียินยอมให้จำเลยพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจาร การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้ร้องที่ 2 ได้ จึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดให้เช่นเดียวกับผู้เสียหายที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และให้ยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายที่ 1 ด้วย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น |
บทความที่น่าสนใจ |
-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร
|