คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14921/2555

สัญญาซื้อขายเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีใจความแสดงให้เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อตามสัญญามีความประสงค์ที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือซึ่งมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไปที่ซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์จะส่งมอบเรือทั้งสามลำที่ซื้อขายให้จำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำให้เสร็จเด็ดขาดต่อไป สัญญาซื้อขายเรือดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง จึงไม่ตกเป็นโมฆะ

ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว ผู้ทำสัญญาไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือที่จะซื้อขายขณะทำสัญญาก็ได้ เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกัน และเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ทั้งได้ความว่าโจทก์ได้ส่งมอบเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายพร้อมหนังสือมอบอำนาจในการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือทั้งสามลำให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญา แสดงว่าโจทก์สามารถดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ สัญญาซื้อขายเรือดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีผลใช้บังคับได้

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 เดือน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรปราการ จำนวน 3 ฉบับ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2550 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 200,000 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าเรือตามสัญญาซื้อขายเรือที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงินแล้ว ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ลงในเช็คทั้งสามฉบับ โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่าย

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยทั้งสองตกลงซื้อเรือประมง 3 ลำ จากโจทก์ในราคา 10,250,000 บาท ตกลงชำระค่าเรือเป็นงวด ๆ โดยเรือมีระวาง 33.12 ตัน 37.41 ตัน และ 58.60 ตัน ต่อมาจำเลยทั้งสองผ่อนชำระได้เพียง 10 งวด โดยเช็คที่สั่งจ่ายไว้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จำเลยทั้งสองจึงเจรจากับโจทก์ขอชำระค่าเรือที่เหลือเป็นเงิน 4,600,000 บาท โจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสองชำระในคราวเดียว และจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าเรือดังกล่าว ซึ่งตามสัญญาซื้อขายเรือ ข้อ 6 ระบุว่า กรรมสิทธิ์ในเรือที่ตกลงซื้อขายนี้ให้ตกเป็นของผู้ซื้อต่อเมื่อได้ชำระราคาภายในเวลาที่กำหนดในข้อ 4 ทั้งหมด และผู้ซื้อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ทั้งหมดโดยครบถ้วน ข้อ 7 ระบุว่า ในวันทำสัญญานี้ ผู้ขายได้ส่งมอบเรือที่ตกลงซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้วแต่ผู้ซื้อจะนำไปขายต่อไม่ได้ ดังนั้นในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 6 ผู้ซื้อจะต้องคืนเรือให้แก่ผู้ขายเมื่อผู้ขายทวงถาม และข้อ 9 ระบุว่า ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่า หากจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือก่อนชำระราคาครบถ้วน ให้ถือในระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่าเป็นการดำเนินการเพื่อความสะดวกในการใช้ประโยชน์จากเรือที่ตกลงซื้อขายของผู้ซื้อเท่านั้น และกรรมสิทธิ์ในเรือที่ตกลงซื้อขายกันนี้จะตกเป็นของผู้ซื้อต่อเมื่อผู้ซื้อได้ชำระราคาให้แก่ผู้ขายตามข้อ 4 จนครบถ้วนแล้ว สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ที่ตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า หลังจากทำสัญญาซื้อขายเรือ โจทก์ได้มอบหนังสือมอบอำนาจในการจดทะเบียนเพื่อเปลี่ยนชื่อเจ้าของเรือทั้งสามลำให้แก่จำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อตามสัญญามีความประสงค์ที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือซึ่งมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไปที่ซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระเงินครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์จะส่งมอบเรือทั้งสามลำที่ซื้อขายให้จำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำให้เสร็จเด็ดขาดต่อไป สัญญาซื้อขายเรือดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง จึงไม่ตกเป็นโมฆะ และในการทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวผู้ทำสัญญาไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือที่จะซื้อขายขณะทำสัญญาก็ได้ เพราะสาระสำคัญที่เป็นวัตถุประสงค์ของการซื้อขายก็คือให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยชำระราคาตามที่ตกลงกัน และเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่ต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ทั้งได้ความว่าโจทก์ได้ส่งมอบเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายพร้อมหนังสือมอบอำนาจในการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เรือทั้งสามลำให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ใช้ประโยชน์เรือทั้งสามลำมาตลอด จนเรือบางลำสูญหายและบางลำถูกเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐอินโดนีเซียยึดไป แสดงว่าโจทก์สามารถดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในเรือทั้งสามลำที่จะซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ สัญญาซื้อขายเรือจึงเป็นสัญญาที่มีผลใช้บังคับได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสามฉบับเพื่อชำระค่าเรือตามสัญญาซื้อขายเรือดังกล่าว จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 เดือน

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่