|
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยดูหมิ่นซึ่งหน้าด้วยการพิมพ์ข้อความ "สรุป...ทริป "พาไปขำ" ...นะคะ..." ...ลงในโปรแกรมไลน์ อันเป็นการใส่ความโจทก์ซึ่งหน้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องอับอาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ถูกเหยียดหยาม ...การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ต่อสมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่เห็นข้อความของจำเลยก็ย่อมจะเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี เป็นคนชั่ว... ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 391 (ที่ถูก 393) เห็นว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียวในประเด็นความผิดที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานหมิ่นประมาท และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 หรือไม่ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน เมื่อโจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โดยมิได้ยืนยันว่าข้อความตามคำฟ้องมีข้อความใดบ้างที่เป็นเท็จ และที่ถูกต้องตามความจริงแล้วเป็นเช่นไร เมื่อพิจารณาข้อความตามคำฟ้องแล้วมีลักษณะเชิงเปรียบเทียบ และข้อความบางตอนกล่าวในทำนองเสียดสี ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ หรือเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อคดีฟังได้เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์มีมูลในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา..." ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเตอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเป็นเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน แต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ พิพากษายืน
บทความที่น่าสนใจ-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร -การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ -คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ -ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้ -ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร -ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ -หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่ -การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด -ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่ -ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร -คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว -การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่
|