ซื้อขายทองอำพรางการกู้ยืมเงินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

โจทก์บรรยายฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายทองรูปพรรณสร้อยคอทองคำลายโซ่กลม ในลักษณะผ่อนชำระรายงวด อันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 4 (2) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งเสื้อคลุม 2 ตัว ซึ่งปักชื่อบริษัท น. จำเลยทั้งสองใช้สวมใส่เพื่อแสดงตนว่าเป็นพนักงานของบริษัท น. ส่วนรถจักรยานยนต์เป็นเพียงยานพาหนะใช้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ริบได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2564

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5, 7, 8, 14, 16 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางทั้งหมดจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้คืนสมุดตารางการรับชำระค่าสินค้าในแต่ละครั้ง 1 แผ่น เงินสด 280 บาท รถจักรยานยนต์ และเสื้อคลุม 2 ตัว ของกลางแก่เจ้าของโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดเวลาที่รอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ให้จำเลยที่ 1 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และห้ามจำเลยที่ 1 ทำงานติดตามทวงหนี้หรือยุ่งเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดอีก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบสมุดตารางการรับชำระราคาสินค้า เงินสด รถจักรยานยนต์ และเสื้อคลุม ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสาขามีอำนาจตรวจสอบข้อมูลและอนุมัติขายสินค้าให้แก่ลูกค้า ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานทดลองงานโดยฝึกงานอยู่กับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 นางสาวกุหลาบ ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อทองรูปพรรณประเภทสร้อยคอลายโซ่กลม น้ำหนัก 7.6 กรัม (สองสลึง) 1 เส้น ราคา 14,615.25 บาท จากบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ตกลงชำระราคาในวันทำสัญญา 1,400 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายวัน วันละ 280 บาท รวม 48 งวด โดยงวดสุดท้ายชำระ 55.25 บาท ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2561 จำเลยทั้งสองสวมเสื้อคลุมของบริษัทขับรถจักรยานยนต์ไปหาผู้เสียหายซึ่งขายผลไม้สดและผลไม้ดองอยู่ที่ตลาดวัดสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เพื่อเก็บเงินซึ่งผู้เสียหายผ่อนชำระราคาสร้อยคอทองคำที่ซื้อไปจำนวน 280 บาท หลังจากจำเลยทั้งสองได้รับเงินแล้ว พันตำรวจโทพีระพงษ์ และร้อยตำรวจเอกการุณ เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรนครปฐมกับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาร่วมกันอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าพนักงานตำรวจยึดสมุดตารางการรับชำระค่าสินค้าในแต่ละครั้ง 1 แผ่น เงินสด 280 บาท รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 1 กณ นครปฐม 7397 และเสื้อคลุม 2 ตัว เป็นของกลาง วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง มีหนังสือที่ กค 1014/2953 ถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรดอนตูมชี้แจงว่า บริษัทที่ขายสินค้าของตนเองเป็นทางการค้าปกติและให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปสามารถเลือกผ่อนชำระเงินเป็นงวด ๆ ได้ จะไม่ถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โจทก์มิได้ฎีกาจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7คดีคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำการอันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้เสียหายได้รับสร้อยคอทองคำจากบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ก็นำไปขายในวันเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้เสียหายในการผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทว่าผู้เสียหายต้องการเงินสดจากบริษัทมาใช้จ่ายตามความประสงค์ของตนเท่านั้น หาใช่ต้องการทองรูปพรรณมาเพื่อเป็นเครื่องประดับหรือเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรในส่วนต่างของราคาทองคำที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตแต่อย่างใดไม่ เมื่อพิจารณาถึงการประกอบการธุรกิจของบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด ปรากฏว่าบริษัทมีสถานประกอบการเป็นอาคารพาณิชย์ และมีป้ายโฆษณาติดไว้ที่ด้านหน้าของอาคาร ว่า “จำหน่าย : อุปกรณ์เสริม เคสมือถือ บัตรเติมเงิน ซิมการ์ด เบอร์เทพ ติดฟิล์มกันรอยทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ” โดยไม่ได้ระบุถึงการจำหน่ายทองรูปพรรณแต่อย่างใด ส่วนภาพที่ 3 เป็นตู้วางสินค้าซึ่งไม่แน่ชัดว่าขณะเกิดเหตุมีสินค้าวางอยู่ตามภาพหรือไม่ เพราะเป็นภาพถ่ายที่จำเลยทั้งสองส่งเป็นพยานในชั้นพิจารณา อาจมีการนำสินค้ามาวางแล้วถ่ายภาพหลังจากจำเลยทั้งสองถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตู้วางสินค้าดังกล่าวมีสินค้าอยู่ในตู้เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีกำไล แหวน และสร้อยคอทองคำเพียงไม่กี่ชิ้นรวมอยู่ในกล่องกระจกเพียงกล่องเดียววางปะปนอยู่กับสินค้าที่เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าบริษัทไม่ได้มีทองรูปพรรณวางจำหน่ายเป็นปกติทางการค้าของตนเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกซื้อเหมือนเช่นร้านค้าทองทั่วไป เมื่อได้รับการติดต่อจากผู้เสียหาย บริษัทจึงไปซื้อสร้อยคอทองคำมาให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายด้วยวิธีผ่อนชำระราคาแก่บริษัทเป็นรายวัน แต่จากเจตนาที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ต้องการเงินสดมาใช้จ่ายย่อมไม่มีความจำเป็นที่ผู้เสียหายจะต้องเลือกแบบของทองรูปพรรณเพราะอย่างไรก็ต้องนำไปขายอยู่ดี คำเบิกความของนายเอกชัยและนางสาวสุดาพยานจำเลยทั้งสองที่อ้างว่า ผู้เสียหายมีความประสงค์จะซื้อสร้อยคอทองคำลายโซ่กลมหนักสองสลึงจึงไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่า ผู้เสียหายเพียงแต่แจ้งความประสงค์ต้องการเงินจำนวนหนึ่งแก่บริษัท แล้วบริษัทไปซื้อสร้อยคอทองคำที่มีราคาใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ผู้เสียหายต้องการมาให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายในราคาที่บวกผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับด้วยวิธีผ่อนชำระราคาแก่บริษัทเป็นรายวันแทน ทั้งนี้เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงข้อห้ามเรื่องการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยบริษัททราบดีอยู่แล้วว่าผู้เสียหายจะนำสร้อยคอทองคำที่ได้รับไปขายในทันทีเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสด เหตุที่ผู้เสียหายยินยอมทำสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทก็เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสดตามความประสงค์ของตนในลักษณะที่จำยอมต้องกระทำ หาใช่ว่าผู้เสียหายเปลี่ยนเจตนาในการทำนิติกรรมจากกู้ยืมเงินมาเป็นการซื้อขายสร้อยคอทองคำแบบผ่อนชำระราคาโดยสมัครใจดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ การที่บริษัทให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำด้วยวิธีผ่อนชำระราคาจึงเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทซื้อสร้อยคอทองคำมาในราคา 10,300 บาท แต่กำหนดราคาขายให้ผู้เสียหาย 14,615.25 บาท โดยต้องผ่อนชำระราคาให้แล้วเสร็จภายใน 48 วัน คำนวณเป็นผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 318 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำของบริษัทจึงมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 1 นั้น ได้ความจากนางสาวสุดาว่า จำเลยที่ 1 ทำงานที่บริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาก่อนเกิดเหตุประมาณ 3 ปี ต่อมาให้ทดลองงานเป็นผู้จัดการสาขา มีหน้าที่อนุมัติการซื้อขายสินค้าแทนนางสาวสุดา สอดคล้องกับสำเนาใบกำกับภาษี/ใบส่งของและสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าสร้อยคอทองคำที่บริษัทขายให้แก่ผู้เสียหาย ที่มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับ


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มอบอำนาจแสดงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นกับวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัทรวมทั้งการทำสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำระหว่างบริษัทกับผู้เสียหายอันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำการอันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันให้ผู้เสียหายทำสัญญาซื้อขายทองรูปพรรณสร้อยคอทองคำลายโซ่กลม ในลักษณะผ่อนชำระรายงวด อันเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมเพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 4 (2) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบเสื้อคลุมและรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ปรากฏว่าเสื้อคลุม 2 ตัว ซึ่งปักชื่อบริษัทนิวมิรัล แอนด์ โกลด์ (2009) จำกัด จำเลยทั้งสองใช้สวมใส่เพื่อแสดงตนว่าเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าว ส่วนรถจักรยานยนต์เป็นเพียงยานพาหนะใช้เพื่อความสะดวกในการเดินทางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรงอันศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ริบได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 กับที่ให้ริบเสื้อคลุมและรถจักรยานยนต์ของกลาง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วนพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ไม่ริบเสื้อคลุม 2 ตัว และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน 1 กณ นครปฐม 7397 ของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่