สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 656ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

วรรคสอง ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ

วรรคสาม ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2559 โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ห. และ จ. ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมง และกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่า ห. และ จ. อยู่กินฉันสามีภริยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อ ห. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งเป็นกิจการที่ ห. ทำร่วมกับ จ. และ จ. ร่วมรับรู้โดย ห.เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งแล้ว จ. เป็นผู้มารับเงิน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ จ. ต้องร่วมกับ ห. ชำระหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ จ. ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาท 2 แปลง ตีใช้หนี้ของ ห. และ จ. ให้แก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยและ ส. หลอกลวง แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงถือว่าจำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13678/2558 ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง อันเป็นหลักทั่วไปในเรื่องหนี้ที่มีบทบัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป" ก็ดี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะในเรื่องเอกเทศสัญญา ลักษณะยืม ที่มีบทบัญญัติว่า "ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ" ก็ดี ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญว่าต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ยืมยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ทั้งสิ้น ซึ่งตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสาม มีบทบัญญัติว่า "ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ" นั้น มีความหมายว่า เมื่อผู้ให้กู้ยืมยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมแล้ว หากมีข้อตกลงให้คิดมูลค่าสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ชำระนอกเหนือไปจากจำนวนราคาตามท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ก็ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ ดังนี้ การยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมจึงเป็นสิทธิของผู้ให้กู้ยืมฝ่ายเดียวที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ สัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 6 ที่มีข้อความว่า "คู่สัญญาตกลงกันว่า ผู้กู้จะชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระเงินไม่ได้เป็นอันขาด" มิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด จึงหาเป็นโมฆะไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2552 การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินของกรที่ดิน แม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท จำเลยก็รับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาและเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินไปทางทะเบียน

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่