สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา ๗๓๕ เมื่อผู้รับจำนองคนใดจะบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อน จึงจะบังคับจำนองได้


 

คำพิพากษาที่น่าสนใจ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2564

จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดของกรมสรรพากรโดยติดจำนองและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนการขายทอดตลาด ต้องถือว่าผู้จำนองเดิมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่จำนองอีกต่อไป และจำเลยได้สิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อโดยสมบูรณ์แล้ว แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ก็ตาม จำเลยจึงมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองอันมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 และโจทก์ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามมาตรา 735 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองภายในกำหนด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองและควรทราบถึงภาระหนี้จำนองมาตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง จึงต้องชำระหนี้จำนวนรวม 2,650,000 บาท พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือดอกเบี้ยของต้นเงินตามสัญญาจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 ประกอบมาตรา 738 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.10499/2559 ของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ ป. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้จำนองรับผิดชำระเงิน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจึงต้องรับผิดไม่เกินกว่าภาระหนี้จำนองของผู้จำนองดังกล่าว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2737/2559

แม้การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจะเป็นการขายโดยวิธีปลอดจำนอง แต่การบังคับจำนองดังกล่าวไม่เป็นการทำให้หนี้ของจำเลยที่มีอยู่ต่อผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้และผู้รับจำนองระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๔๔ (๕) เนื่องจากคดีนี้ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้จำนองตามมาตรา ๗๒๘ หรือเป็นการฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนทรัพย์ที่จำนองตามมาตรา ๗๓๕ และมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าหนี้สามัญฟ้องคดีแล้วไปยึดทรัพย์ที่ติดจำนองและนำไปขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองเท่านั้น เช่นนี้ ในระหว่างผู้ร้องและจำเลย ผู้ร้องจึงยังมีสิทธิตามสัญญาจำนองในฐานะผู้รับจำนองและเจ้าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยทำกับรับเงินไปจากผู้ร้องและยังไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงไว้กับผู้ร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้สามัญรายอื่น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2555

จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งโดยติดจำนองย่อมมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง หาทำให้มีฐานะเป็นผู้จำนองไม่ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 และ 739 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองดังกล่าว โดยโจทก์จะบังคับจำนองก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้จำนองตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง อันเนื่องมาจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้หนี้จนครบถ้วน โจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองให้รับผิดในฐานะผู้จำนองแก่โจทก์ด้วยหาได้ไม่ แม้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ย่อมเป็นคำขอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และแม้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จำเลยรับโอนจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 แต่โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าที่ค้างชำระและยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่จำต้องรับผิดในหนี้นั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (1)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8706/2554

จำเลยทั้งห้าเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำนองมาจากนาย ก. สืบเนื่องมาจากการรับมรดก จึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของนาย ก. กล่าวคือต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแทนนาย ก. หาใช่เป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแต่อย่างใด กรณีของจำเลยทั้งห้าจึงมิต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 735 ที่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองจะต้องมีจดหมายบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2551

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2549

การที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นใดโดยอาศัยเหตุอย่างใดแล้ว คู่ความเดียวกันจะรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นนั้น โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับ พ. ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและบังคับจำนองเนื่องจาก พ. ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยเป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์จำนองจากการขายทอดตลาดของศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11353/2534 ที่ ส. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ พ. ขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองเพื่อนำเงินชำระหนี้แก่ ส. แม้จำเลยจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์จำนอง แต่จำเลยก็มิได้เป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ที่โจทก์ฟ้อง พ. ทั้งจำเลยมีสิทธิที่จะไถ่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 เมื่อจำเลยไม่ไถ่จำนองและโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยตามมาตรา 735 แล้วแต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้นแล้ว มูลคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้จึงเป็นคนละอย่างกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ธ.9861/2544 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2549

การที่จำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาจากการขายทอดตลาดในคดีอื่นของศาลชั้นต้น โจทก์ผู้ทรงสิทธิจำนองย่อมมีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์นั้นได้แต่หาได้ทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้จำนองแต่อย่างใดไม่ ฐานะของจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง อันมีสิทธิและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. คือ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น ซึ่งหากโจทก์ไม่ยอมรับ โจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 738 และ 739 และถ้าจำเลยมิได้ใช้สิทธิเสนอไถ่ถอนจำนองดังกล่าว หากโจทก์จะบังคับจำนอง ก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 มิใช่ว่าเมื่อจำเลยซื้อทรัพย์สินซึ่งติดจำนองมาแล้วโจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ติดตามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินได้ทันที จำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว ประเด็นแห่งคดีก็เป็นคนละอย่างกัน กรณีหาใช่เรื่องสืบสิทธิที่จะถือว่าเป็นเรื่องที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 20768/2535 ของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2548

การขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองมีทั้งการขายโดยปลอดจำนอง และการขายโดยจำนองติดไป หากเป็นการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง เจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ส่วนการขายทอดตลาดโดยจำนองติดไป ผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง โดยบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา 735 เมื่อจำเลยเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองโดยการซื้อทรัพย์สินที่จำนองจากการขายทอดตลาด มิใช่คู่สัญญาตามสัญญาจำนอง จำเลยจึงเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ยอมให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินที่จำนอง แม้โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง แต่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองก็มีหน้าที่เพียงปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนอง ตามบทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 12 หมวด 5 แห่ง ป.พ.พ. เท่านั้น ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องชำระหนี้ตามสัญญาจำนองแก่โจทก์ และหากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองได้เงินสุทธิไม่พอ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2542

ในกรณีเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองประสงค์จะฟ้องบังคับจำนอง กฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้จำนองซึ่งเป็นลูกหนี้ และต้องกำหนดเวลาอันสมควรเพื่อให้โอกาสผู้จำนองชำระหนี้จำนอง การบอกกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขที่ผู้รับจำนองจะต้องกระทำให้ถูกต้องก่อน จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ การบอกกล่าวดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา ซึ่งกฎหมายกำหนดคือผู้จำนองฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรมก่อนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแม้จะมีผู้อื่นรับหนังสือนั้นไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ส. ผู้จำนองถึงแก่กรรม มรดกรวมตลอดถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดย่อมตกทอดแก่ทายาทของ ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599,1600 ถ้ามีผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองแล้ว หากโจทก์ประสงค์จะบังคับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้รับโอนล่วงหน้า 1 เดือนก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 ถ้ายังไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง แต่ ส. ผู้จำนองมีทายาทหรือผู้จัดการมรดก โจทก์ต้องบอกกล่าวเป็นจดหมายหรือหนังสือล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน แก่บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง จึงจะฟ้องบังคับจำนองได้ เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทผู้จำนองก่อนฟ้อง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7279/2537

ผู้ร้องรับโอนที่พิพาทโดยเข้าครอบครองทำประโยชน์และรับโอนทางทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งออกทับที่พิพาทซ้ำกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับที่โจทก์รับจำนองและยึดถือไว้ โดยโจทก์ไม่ทราบมาก่อนจึงไม่มีทางที่โจทก์จะมีจดหมายบอกกล่าวแก่ผู้ร้องล่วงหน้าก่อนบังคับจำนองได้ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองตามความมุ่งหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 โจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวแก่ผู้ร้องล่วงหน้าก่อนบังคับจำนอง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

--

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่