มอบโฉนดที่ดินเป็นประกันเงินกู้ต่อมาแจ้งขอออกโฉนดใหม่เป็นความผิดหรือไม่ |
---|
นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโจทก์มีฐานะเพียงเจ้าหนี้สามัญของจำเลย การที่จำเลยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงินแม้ทำให้โจทก์มีสิทธิในอันที่จะยึดโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยสิ้นเชิง แต่มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับเอาแก่ที่ดินหรือบังคับอย่างใด ๆ ต่อโฉนดที่ดินที่จำเลยวางเป็นประกันได้เลยไม่ว่าในทางใด โจทก์คงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอย่างเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น ดังนี้การที่จำเลยไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินสูญหายไปเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ ย่อมมิได้กระทบต่อสิทธิอย่างใด ๆ ของโจทก์ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญมีอยู่อย่างไรคงมีอยู่เพียงนั้น มิได้ลดน้อยถอยลง ทั้งในการแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับโจทก์เพราะจำเลยไม่ได้กล่าวพาดพิงเจาะจงถึงโจทก์ ในอันจะถือว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 137
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2556
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ให้จำคุก 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2549 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ โดยมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 58366 ตำบลหนองดินแดง อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) ให้แก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน วันที่ 11 กันยายน 2550 จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมว่า โฉนดที่ดินสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุและมีความประสงค์ขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ตามบันทึกถ้อยคำ เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทน
|
โฉนดที่ดินให้วันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 จากนั้นวันที่ 25 สิงหาคม 2551 จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่น ตามสำเนาโฉนดที่ดิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์มีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญของจำเลย การที่จำเลยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน แม้ทำให้โจทก์มีสิทธิในอันที่จะยึดโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยสิ้นเชิง แต่มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับเอาแก่ที่ดินหรือบังคับอย่างใดๆ ต่อโฉนดที่ดินที่จำเลยวางเป็นประกันได้เลยไม่ว่าในทางใด โจทก์คงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยได้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอย่างเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น ดังนี้ การที่จำเลยไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมว่าโฉนดที่ดินสูญหายไปเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ ย่อมมิได้กระทบต่อสิทธิอย่างใดๆ ของโจทก์ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญมีอยู่อย่างไรคงมีอยู่เพียงนั้น มิได้ลดน้อยถอยลงไป ทั้งในการแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับโจทก์ เพราะจำเลยมิได้กล่าวพาดพิงเจาะจงถึงโจทก์ ในอันจะถือว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้ออื่นอีกเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
บทความที่น่าสนใจ-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร -การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ -คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ -ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้ -ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร -ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ -หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่ -การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด -ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่ -ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร -คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว -การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่
|