การขอแก้ไขชื่อคู่ความแม้ในชั้นบังคับคดีสามารถขอแก้ไขได้ |
---|
การขอแก้ไขชื่อคู่ความ แม้จะดำเนินคดีไปจนถึงชั้นบังคับคดีแล้ว คู่ความก็สามารถแก้ไขให้ตรงต่อความเป็นจริงได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวนั้น เป็นการพิมพ์ชื่อของคู่ความผิด ศาลย่อมมีอำนาจในการอนุญาตให้แก่แก้ไขชื่อคู่ความดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15722/2558 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายสมเกียรติ คล้ายทอง กับนายสมเกียรติ์ คล้ายทอง เป็นบุคคลคนเดียวกัน การขอแก้ไขเพิ่มเติมชื่อนายสมเกียรติ์ เข้ามา จึงมิใช่เป็นกรณีฟ้องจำเลยที่ 3 ผิดตัวหรือฟ้องคดีต่างบุคคลกันและมิใช่เป็นการเพิ่มเติมข้อหาใหม่ หากแต่เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดี แต่ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาอย่างใด ทั้งกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 180 และมาตรา 181 ที่จะต้องถูกจำกัดระยะเวลาการยื่นคำร้องว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน และไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อน คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 1,762,104.50 บาท และชำระดอกเบี้ยค่าเช่าและค่าปรับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,136,437 บาท กับชำระเบี้ยปรับผิดนัดชำระค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ในต้นเงิน 289,341.95 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 785,341.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 496,000 บาท นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 289,341.95 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 213,479 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จอีกจำนวนหนึ่งนอกจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วแก่โจทก์ด้วย และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนด ค่าทนายความรวม 9,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ชั้นบังคับคดี โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับชื่อของจำเลยที่ 3 จากชื่อ นายสมเกียรติ เป็น นายสมเกียรติ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า อนุญาตให้แก้ชื่อจำเลยที่ 3 จาก นายสมเกียรติ เป็น นายสมเกียรติ์ ตามคำร้อง และห้ามมิให้คัดสำเนาคำพิพากษาเดิมเว้นแต่จะได้คัดสำเนาคำพิพากษานี้ไปด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 3 ฎีกา |
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายสมเกียรติ กับนายสมเกียรติ์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 คดีนี้ เป็นบุคคลเดียวกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจแก้ชื่อของจำเลยที่ 3 ในชั้นบังคับคดีได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า การแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดให้ถูกต้องและไม่ใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แต่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำฟ้องของโจทก์ให้บริบูรณ์เพื่อแสดงและยืนยันตัวบุคคลว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์จึงอาจขอแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 และต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 และมาตรา 181 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายสมเกียรติ กับนายสมเกียรติ์ เป็นบุคคลคนเดียวกัน การขอแก้ไขเพิ่มเติมชื่อนายสมเกียรติ์ เข้ามา จึงมิใช่เป็นกรณีฟ้องจำเลยที่ 3 ผิดตัวหรือฟ้องคดีต่างบุคคลกันและมิใช่เป็นการเพิ่มเติมข้อหาใหม่ หากแต่เป็นการเพิ่มเติมในรายละเอียดให้ชัดเจนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้จะอยู่ในชั้นบังคับคดี แต่ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือเป็นการบังคับคดีนอกเหนือไปจากคำพิพากษาอย่างใด ทั้งกรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ฉะนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 180 และมาตรา 181 ที่จะต้องถูกจำกัดระยะเวลาการยื่นคำร้องว่าต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยาน และไม่จำต้องส่งสำเนาคำร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขชื่อจำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ |
บทความที่น่าสนใจ |
-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร
|