ขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนอกจากที่พินัยกรรมระบุให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ |
---|
เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมไว้แล้ว ผู้ตายมักจะบุคคลให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากมีผู้มีส่วนได้เสียต้องการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับบุคคลที่ระบุไว้ในพินัยกรรมสามารถทำได้ โดยการยื่นคำร้องขอเข้าไปในคดีที่ผู้ร้องตามพินัยกรรมร้องขอแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก
ซึ่งศาลได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ว่า บทบัญญัติในวรรคสองของ ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยพิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2562
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งพลเอกณรงค์ศักดิ์ ผู้ร้อง และนายอานนท์ ผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของพันตรีหญิงนวลปรางค์ ผู้ตาย ให้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตรีหญิงนวลปรางค์ ผู้ตาย กับพลโทกมล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ พลตรีหญิงอภิรัตน์ ผู้ร้อง และนายฤทธิรงค์ ผู้คัดค้านเป็นบุตรของพลตรีหญิงอภิรัตน์กับพลตรีสรภฏ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 ผู้ตายจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรม ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมยกบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 90 หมู่ที่ 21 ให้แก่ผู้คัดค้าน และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์สินอื่นของผู้ตายนอกจากที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 ผู้ตายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับพลตรีหญิงอภิรัตน์ ผู้คัดค้าน พลตรีสรภฎ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1817/2558 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีที่ผู้ตายฟ้องพลตรีหญิงอภิรัตน์ ผู้คัดค้าน พลตรีสรภฎ เรื่องเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉล ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ วันที่ 29 กันยายน 2558 ผู้ตายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้คัดค้านว่าจะไปจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.54/2558 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นคดีที่ผู้ตายฟ้องผู้คัดค้าน เรื่องเลิกการรับบุตรบุญธรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของผู้ร้องว่า การแสดงเจตนายกเลิกการรับบุตรบุญธรรมตามหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลทำให้ผู้คัดค้านไม่เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก และพินัยกรรมถูกยกเลิกโดยสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/36 บัญญัติว่า "การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล ย่อมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่ได้จดทะเบียนแล้ว" เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงกันว่า ผู้ตายและผู้คัดค้านจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผู้คัดค้านผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแทนการแสดงเจตนาของผู้คัดค้าน และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปราจีนบุรีมีคำพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ผู้ตายและผู้คัดค้านยังไม่ได้นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียน การเลิกรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านย่อมมีผลแล้วนับแต่เวลาที่คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1598/36 ดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายและไม่อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่หนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28, 1629 ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ส่วนปัญหาว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายในฐานะผู้รับพินัยกรรมหรือไม่ และพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ผู้คัดค้านอ้างถูกยกเลิกโดยสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่นั้น เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2558 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1817/2558 ผู้ตาย ผู้คัดค้าน และบิดามารดาของผู้คัดค้านตกลงกันในข้อ 1 เรื่องการแบ่งทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 8645 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 9 ห้อง ที่ดินโฉนดเลขที่ 20869 และที่ดินโฉนดเลขที่ 5762 ให้แก่บุตรทั้งสามคนของผู้ตายคนละส่วนเท่า ๆ กันโดยกำหนดวิธีจัดการแบ่งไว้ ข้อ 2 เป็นการตกลงยุติการดำเนินคดีอาญาที่ผู้ตายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บิดามารดาของผู้คัดค้าน ข้อ 3 ผู้คัดค้านตกลงยินยอมไปดำเนินการจดทะเบียนยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล ข้อ 4 หากฝ่ายใดผิดสัญญาให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาในการตกลงยินยอมของคู่สัญญา ข้อ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนให้ตกเป็นพับ และข้อ 6 ระบุว่า ผู้ตายกับผู้คัดค้านและบิดามารดาของผู้คัดค้านตกลงกันตามข้อ 1 ถึงข้อ 5 ทุกประการ โดยผู้ตายกับผู้คัดค้านและบิดามารดาของผู้คัดค้านจะไม่นำสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่มีอยู่ก่อนหรือที่จะมีขึ้นภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้มาเป็นเหตุเปลี่ยนแปลงข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีพินัยกรรมยกให้หรือไม่ก็ตาม ส่วนพินัยกรรมนั้น ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวขึ้นเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 กำหนดยกบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 90 หมู่ที่ 2 ของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านและตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่ทรัพย์สินที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมิได้มีการระบุถึงบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 90 ที่ผู้ตายยกให้แก่ผู้คัดค้านตามพินัยกรรม ดังนั้นข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพินัยกรรม จึงมิได้ถูกกระทบหรือถูกเพิกถอนโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งการที่จะเพิกถอนพินัยกรรมหรือเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมได้จะต้องกระทำตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการเพิกถอนพินัยกรรมหรือเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าว ดังนั้น พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง จึงยังมีผลใช้บังคับอยู่ และผู้คัดค้านยังมีสิทธิได้รับมรดกบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 90 ตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น |
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามฎีกาของผู้ร้องว่า สมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นควรพิจารณาปัญหานี้ไปพร้อมกับฎีกาของผู้คัดค้านที่ว่า การที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ตามเนื้อหา ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ผู้คัดค้านไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง กำหนดว่า การตั้งผู้จัดการมรดก ถ้ามีข้อกำหนดในพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้ศาลใช้ดุลพินิจตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้น เห็นว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกของอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีจึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่า บุคคลใดในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นผู้ที่สมควรได้รับการตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก บทบัญญัติในวรรคสองของมาตรา 1713 ที่ว่า "การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร" นั้น เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก โดยให้พิจารณาตามพฤติการณ์เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมหรือห้ามตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดพินัยกรรมแต่ประการใดไม่ การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือจะตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันนั้นย่อมแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร การที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายเป็นผู้จัดการมรดกจึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาว่าผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่นั้น โดยปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาคำฟ้อง สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมว่า ผู้ตายฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 เพื่อเลิกการรับบุตรบุญธรรม เนื่องจากผู้คัดค้านหลอกลวงผู้ตายให้ลงลายมือชื่อในเอกสาร 2 ครั้ง ต่างวันเวลากัน โดยอ้างว่า เป็นการลงลายมือชื่อเพื่อตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ตาย และเพื่อแจ้งอายัดที่ดินของผู้ตาย แต่ความจริงเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อขอออกโฉนดใบแทนทั้งที่โฉนดที่ดินมิได้สูญหาย แล้วนำโฉนดใบแทนไปโอนที่ดินของผู้ตายให้แก่มารดาผู้คัดค้าน วันที่ 29 กันยายน 2558 ผู้ตายและผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงจะไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปราจีนบุรีมีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.54/2558 ผู้คัดค้านจึงไม่อยู่ในฐานะบุตรบุญธรรมของผู้ตายดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแล้ว พฤติการณ์ของผู้คัดค้านดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้คัดค้านได้ประพฤติตนมิชอบขัดต่อความไว้วางใจของผู้ตายและเป็นเหตุให้ผู้ตายอับอายขายหน้าอย่างร้างแรง หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนก็เชื่อได้ว่าผู้ตายย่อมต้องเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเช่นเดียวกับที่เลิกการรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรม เนื่องจากการหมดศรัทธาในตัวผู้คัดค้านแล้ว แม้ผู้คัดค้านยังมีส่วนได้เสียในกองมรดก แต่ก็มีทรัพย์เพียง 1 รายการเท่านั้นที่ตกได้แก่ผู้คัดค้านตามพินัยกรรม ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ย่อมมีหน้าที่จัดการโอนทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านตามสิทธิที่ผู้คัดค้านพึงได้รับตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของผู้คัดค้านดังกล่าวข้างต้นและโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้ว จึงไม่เห็นสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งพลเอกณรงค์ศักดิ์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของพันตรีหญิงนวลปรางค์ ผู้ตาย เพียงผู้เดียว โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ |
บทความที่น่าสนใจ |
-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร -การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ -คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ -ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้ -ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร -ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ -หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่ -การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด -ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่ -ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร -คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว -การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่
|