สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

คืนรถที่เช่าซื้ออย่างไรไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง

มีหลายคนสอบถามเข้ามากับสำนักงานว่า คืนรถที่เช่าซื้ออย่างไรไม่ต้องจ่ายส่วนต่างหรือค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ

โดยสำนักงานได้พิจารณาหลักเกณฑ์การคืนรถที่เช่าซื้อโดยไม่ได้ต้องจ่ายส่วนต่างตามสัญญาเช่าซื้อ จากคำพิพากษาของศาลแล้ว ซึ่งต้องมีข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

1.ผู้เช่าซื้อจะต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นขอคืนรถเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อก่อน

2.ผู้ให้เช่าซื้อติดต่อตกลงและนัดหมายรับรถที่เช่าซื้อคืนจากผู้เช่าซื้อ และรับรถเช่าซื้อแล้ว

3.ผู้เช่าซื้อจะต้องไม่มีค่างวดผิดนัดค้างชำระค่างวดเช่าซื้อเลย( เรียกได้ว่าเป็นลูกหนี้ชั้นดี )

4.ไม่ปรากฎว่า ขณะที่ผู้ให้เช่าซื้อรับรถเช่าซื้อคืนแล้วนั้น ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อภายหลังจากผู้ให้เช่าซื้อรับรถเช่าซื้อคืนไปแล้วอย่างไร

***(ข้อนี้ สำคัญมาก หากว่ามีการลงลายมือชื่อในบันทึกหรือหนังสือว่า จะต้องรับผิดชอบเมื่อผู้ให้เช่าซื้อนำรถไปขายตลาดแล้วมีส่วนต่าง ผู้เช่าซื้อยังคงต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า แต่หากว่าไม่มีการจัดทำบันทึกดังกล่าวแล้ว ผู้เช่าซื้อจะไม่ต้องรับผิดภายหลังจากการตลาดทอดของผู้ให้เช่าซื้อในส่วนต่างจากสัญญาเช่าซื้อ

 

หากว่า มีข้อเท็จจริงทั้ง 4 ประการดังกล่าวครบถ้วนแล้ว แสดงว่า ท่านจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหากปรากฎว่าในภายหลังว่า ผู้ให้เช่าซื้อนำรถที่เช่าซื้อไปขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่เพียงพอตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะมาเรียกร้องเอากับผู้เช่าซื้ออีกไม่ได้

 

ทั้งนี้ ท่านจะต้องดำเนินการหาทนายความซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในการต่อสู้คดีของท่านด้วย หากท่านไม่มีทนายความเพื่อดำเนินการต่อสู้คดี ศาลจะไม่พิจารณาคดีของท่านให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558

จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะตกลงขายสิทธิการเช่าซื้อให้ ส. ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 265,410 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 47,190 บาท และชำระค่าเสียหายวันละ 121 บาท หรือเดือนละ 3,630 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 312,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 200,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 39,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 39,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ธันวาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน แต่ไม่เกิน 1 ปี กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท

จำเลยฎีกาโดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์แล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อจะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อเพราะไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อได้ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น โจทก์เมื่อได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 โดยมอบหมายให้นายสมชาติ พนักงานของโจทก์ในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการ ย่อมถือได้ว่านายสมชาติเป็นตัวแทนของโจทก์ในการมารับรถยนต์คืน เมื่อนายสมชาติทำบันทึกการส่งมอบรถยนต์ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งมีข้อความแสดงว่าได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับจุดประสงค์ที่จำเลยกับโจทก์ตกลงกันข้างต้นแล้ว ถือว่าโจทก์รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยแล้ว แม้จะได้ความต่อมาว่าในวันดังกล่าวนายสมชาติกับจำเลยมีการเจรจาตกลงกันว่า จำเลยตกลงจะขายสิทธิการเช่าซื้อให้นายสมชาติโดยนายสมชาติจะหาบุคคลอื่นมาเป็นผู้เช่าซื้อแทนตนเองโดยมีค่าตอบแทน ก็เป็นเรื่องที่นายสมชาติเป็นผู้ริเริ่มข้อเสนอดังกล่าวมายังจำเลยเพราะอยากได้รถยนต์ที่จำเลยคืนให้โจทก์ จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากมีการคืนรถยนต์กันแล้ว แม้การกระทำของนายสมชาติจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ ซึ่งต่อมาโจทก์ลงโทษเลิกจ้างนายสมชาติเพราะเหตุนี้ไปแล้วก็ตาม แต่จำเลยเป็นบุคคลภายนอก เมื่อนายสมชาติเป็นทั้งพนักงานของโจทก์และเป็นตัวแทนโจทก์มาทำการรับรถยนต์คืน จึงมีมูลอันสมควรที่จะทำให้จำเลยเชื่อว่าข้อเสนอของนายสมชาติสามารถกระทำได้โดยชอบ เพราะในทางปฏิบัติในธุรกิจการเช่าซื้อก็มีการขายสิทธิการเช่าซื้อ และโอนเปลี่ยนผู้เช่าซื้อกันใหม่ได้ ซึ่งผู้ขายสิทธิย่อมได้ค่าตอบแทนซึ่งเป็นค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระไปก่อนบางส่วน การที่จำเลยได้รับค่าตอบแทนจึงมิใช่เรื่องที่ผิดปกติ ทั้งต่อมาก็ได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอของนายสมชาติ โดยวันที่ 12 ธันวาคม 2549 จำเลย นายสมชาติ และนายพรชัย ไปที่บริษัทโจทก์เพื่อขอโอนสิทธิสัญญาเช่าซื้อ ในวันดังกล่าวมีการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 13 และงวดที่ 14 บางส่วนให้โจทก์ ตามใบยื่นคำขอโอนสิทธิสัญญาเช่าซื้อและรายการชำระค่าเช่าซื้อ ต่อมาโจทก์อนุมัติให้เปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อจากจำเลยเป็นนายพรชัยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 แสดงว่าโจทก์ก็รับรู้ข้อเท็จจริงนี้ แต่เหตุที่ไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเพราะนายพรชัยไม่ไปทำสัญญา มิใช่เป็นเพราะจำเลยไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ส่วนเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 ที่จำเลยจัดทำขึ้นและส่งไปให้โจทก์นั้น ข้อความในเอกสารเป็นการบอกเล่าเรื่องราวตามความเป็นจริงนับแต่วันที่โจทก์ส่งนายสมชาติมารับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยก็ยังยืนยันว่าได้ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์แล้ว และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องขายสิทธิการเช่าและขอเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อระหว่างจำเลยกับนายสมชาติ จนกระทั่งจำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่านายพรชัยไม่ไปทำสัญญาเพื่อเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อและนายสมชาติถูกไล่ออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์แล้ว โดยมิได้ปิดบังข้อเท็จจริงใดเพื่อประโยชน์ของตนเอง อันแสดงให้เห็นถึงความสุจริตของจำเลยที่ตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อกับนายสมชาติ อีกทั้งไม่ปรากฏว่านายสมชาติทำข้อตกลงดังกล่าวในฐานะตัวแทนของโจทก์แต่อย่างใด จึงมิใช่เรื่องที่ตัวแทนทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยเห็นแก่ประโยชน์ที่จำเลยได้ให้เป็นลาภส่วนตัวแก่นายสมชาติดั่งที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่นายสมชาติตัวแทนของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคืนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไม่ปรากฏว่าขณะเลิกสัญญาจำเลยมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างไร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร