สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ทายาทและเจ้ามรดกตายพร้อมกันจะรับมรดกแทนที่ไม่ได้โดยเด็ดขาด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556
ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 22493 และ 22501 ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด โฉนดละกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ และแบ่งที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์อีก 1 ใน 12 ส่วน หากแบ่งไม่ได้ ขอให้นำที่ดินทั้งสองแปลงออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายธรรมนูญซึ่งเกิดจากนางทองใบ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน นายธรรมนูญรับรองว่าโจทก์และพี่น้องเป็นบุตร นายธรรมนูญเป็นบุตรของนายกล้าและนางต๋อง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 13 คน คือ พลโทหรือนายอเนก นายอนันต์ นางมาลัย ร้อยตำรวจเอกหรือนายมานพ นายมานิตย์ นายธรรมนูญ จำเลย นายอำนาจ นายมานะ นางเสาวลักษณ์ นางมาลี นางเสาวภา และนางสาวฐปณนนท์หรือมาลิน วันที่ 4 มิถุนายน 2510 คนร้ายลอบยิงนายกล้าและนายธรรมนูญถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 22493 และเลขที่ 22501 ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมือเปล่าซึ่งอยู่หมู่ที่ 6 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 9) ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด มีบ้านปลูกอยู่ 1 หลัง โดยนายธรรมนูญอยู่อาศัยกับนายกล้าและนางต๋อง ซึ่งเป็นบิดามารดารวมทั้งพี่น้องของนายธรรมนูญ มีป้ายปักตรงปากทางว่า "ไร่ธรรมนูญ" โจทก์อาศัยอยู่กับนางทองใบผู้ซึ่งเป็นมารดาที่จังหวัดตราด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทเลยหลังจากนายธรรมนูญถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2512 นางต๋อง นายมานิตย์ และจำเลยไปยื่นคำขอใบจอง ทางราชการออกใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 169 เนื้อที่ 48 ไร่ ให้แก่นางต๋อง ใบจองเลขที่ 172 เนื้อที่ 46 ไร่ 1 งาน ให้แก่จำเลย และใบจองเลขที่ 171 เนื้อที่ 49 ไร่ 3 งาน ให้แก่นายมานิตย์ ที่ดินตามใบจองเลขที่ 172 มีอาณาเขตทิศใต้จดที่ดินของนางมาลัย ภริยาของนายมานะ วันที่ 17 กันยายน 2513 นายมานิตย์ จำเลย และนางต๋องมอบอำนาจให้นายมานะไปยื่นคำขอรับรองการทำประโยชน์ โดยมีนายแจและนายสำเนียงลงลายมือชื่อเป็นพยานในคำขอรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามฉบับ ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 169 ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด มีชื่อนางต๋องเป็นผู้มีสิทธิ

ครอบครอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 171 ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด มีชื่อนายมานิตย์ เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 172 ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด มีชื่อจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ปี 2514 ทางราชการเวนคืนที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 169 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา เลขที่ 171 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา และเลขที่ 172 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา เป็นถนนสายตราด - ไม้รูด วันที่ 1 มิถุนายน 2514 นายมานิตย์มอบอำนาจให้นายมานะไปยื่นเรื่องราวขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน วันที่ 27 กันยายน 2514 นายมานะในฐานะผู้รับมอบอำนาจของนายมานิตย์ยื่นคำขอแบ่งขายที่ดินให้แก่กรมทางหลวง ส่วนจำเลยมอบอำนาจให้นางต๋องจดทะเบียนแบ่งขายที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่กรมทางหลวง วันที่ 21 กันยายน 2516 นางต๋องในฐานะผู้รับมอบอำนาจของจำเลยทำสัญญาแบ่งขายที่ดินกับกรมทางหลวง ตามสำเนาหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดิน ต่อมานายมานิตย์ถึงแก่ความตาย วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2523 นางบุญช่วยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมานิตย์ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 171 ให้แก่จำเลย วันที่ 17 พฤษภาคม 2531 นางต๋องขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 169 ให้แก่บริษัทตราดซีไซด์ จำกัด เป็นเงิน 400,000 บาท แล้วแบ่งเงินให้แก่พลโทหรือนายอเนก 100,000 บาท นายอนันต์ 100,000 บาท และทายาทโดยธรรมของนายธรรมนูญ 100,000 บาท วันที่ 9 พฤษภาคม 2531 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 171 และเลขที่ 172 ให้แก่นายประสงค์ ต่อมานายประสงค์ฟ้องจำเลยเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่นายประสงค์ คดีถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2537 ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2537 ปี 2537 จำเลยยื่นขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 171 และเลขที่ 172 วันที่ 21 กันยายน 2537 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 22493 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา และวันที่ 23 ตุลาคม 2537 เลขที่ 22501 เนื้อที่ 48 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา ให้แก่จำเลย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของนายกล้าหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 17 บัญญัติว่า "ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง ให้ถือว่าตายพร้อมกัน" และมาตรา 1639 บัญญัติว่า "ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย...ก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่..." นายธรรมนูญเป็นบุตรของนายกล้า หากนายธรรมนูญและนายกล้ายังมีชีวิตอยู่ นายธรรมนูญก็เป็นบุคคลซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ของนายกล้าตามมาตรา 1639 หรือหากคนใดตายก่อนคนที่มีชีวิตก็เป็นทายาทของคนที่ตายไป โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่านายกล้าและนายธรรมนูญถูกคนร้ายลอบยิงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2510 โดยไม่บรรยายฟ้องว่าบุคคลใดตายก่อน จำเลยให้การว่านายธรรมนูญและนายกล้าตายพร้อมกันเช่นนี้ ข้อเท็จจริงต้องฟังว่านายธรรมนูญและนายกล้าตายพร้อมกันตามมาตรา 17 ดังกล่าว ดังนั้น นายธรรมนูญและนายกล้าจึงไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกันเพราะนายธรรมนูญและนายกล้าไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 ในขณะที่แต่ละฝ่ายถึงแก่ความตายตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจากนายธรรมนูญมิได้ตายก่อนนายกล้าอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายธรรมนูญตามมาตรา 1639 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของนายกล้า ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร