สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

พินัยกรรมไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้รับพินัยกรรมเมื่อถึงแก่ความตายแล้ว

 

การตีความเจตนาต้องอาศัยข้อความในหนังสือเป็นสำคัญ การที่ ว. ทำหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อหนังสือว่า หนังสือมอบมรดก แต่มีข้อความตอนหนึ่ง ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจาก ว. นับแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์ตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสืออีกฉบับหนึ่งใช่ชื่อว่า หนังสือมอบกรรมสิทธ์ มีข้อความสรุปว่า ว. ขอยกที่ดินพร้อมบ้านให้แก่ผู้คัดค้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ที่ ว. ค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่า ว. พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ในที่ดินและบ้านให้แก่ผู้คัดค้านหากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่า ว. ประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อ ว. ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงมิใช่พินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ว. ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ว. ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10243/2554

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรสกล ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชชา ผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและแต่งตั้งให้ผู้คัดค้านกับนายเจริญชัยเป็นผู้จัดการมรดกแทน

ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า นายวิชชาทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้คัดค้านหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่า หนังสือมอบมรดกลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 กับหนังสือมอบกรรมสิทธิ์ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 ที่นายวิชชาทำขึ้นเพื่อยกทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านเป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย แม้นายวิชชาจะไม่ระบุว่าให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อนายวิชชาถึงแก่ความตายก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือมอบมรดกที่ใช้ชื่อว่า หนังสือมอบมรดก ตลอดจนข้อความที่ว่า นายวิชชาเขียนหนังสือฉบับนี้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะดี รวมทั้งข้อความว่าขอมอบมรดกให้แก่ผู้คัดค้าน ย่อมมีความหมายพอให้เข้าใจได้ว่านายวิชชาประสงค์จะให้ทรัพย์สินของตนตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อนายวิชชาถึงแก่ความตายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า หนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนจากเจตนาที่แท้จริงของนายวิชชานั้น เห็นว่า

 

 

การตีความเจตนาของนายวิชชาต้องอาศัยข้อความในหนังสือทั้งสองฉบับเป็นสำคัญ สำหรับหนังสือฉบับแรกแม้จะใช้ชื่อว่า หนังสือมอบมรดก และมีข้อความในหนังสือว่า ผู้ร้องเขียนหนังสือฉบับนี้ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะดี ขอมอบทรัพย์มรดกซึ่งเป็นของนายวิชชาให้แก่ผู้คัดค้านก็ตาม แต่มีข้อความตอนต่อมาว่า ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้นต่อจากนายวิชชานับตั้งแต่วันทำหนังสือฉบับนั้นเป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่านายวิชชาประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้คัดค้านในวันนั้น หาใช่ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อนายวิชชาถึงแก่ความตายไม่ ส่วนหนังสือมอบกรรมสิทธิ์ที่นายวิชชาทำขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 มีข้อความโดยสรุปว่า นายวิชชาขอยกที่ดินโฉนดเลขที่ 24357 ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย กับบ้านเลขที่ 358 และที่ดินกับบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ในจังหวัดหนองคายให้แก่ผู้คัดค้าน เพื่อเป็นการชำระหนี้ที่นายวิชชาค้างชำระแก่ผู้คัดค้าน ทั้งยังมีข้อความว่านายวิชชาพร้อมที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพักให้แก่ผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านร้องขอ โดยไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่านายวิชชาประสงค์จะให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของผู้คัดค้านเมื่อนายวิชชาตายแล้วเช่นกัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า หนังสือทั้งสองฉบับไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายไว้ จึงไม่ใช่พินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2517 ระหว่างพระสมุทรเมธาจารย์ โดยนางบรรจง โจทก์ นางอารีย์ จำเลย เมื่อหนังสือทั้งสองฉบับไม่เป็นพินัยกรรมตามที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายวิชชา ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกนายวิชชาได้ แม้คำร้องของผู้คัดค้านจะเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอยู่บ้างก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็ไม่อาจอนุโลมตามคำร้องขอของผู้คัดค้านให้ขัดต่อหลักกฎหมายได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านชอบแล้ว รูปคดีไม่จำต้องวินิจฉัยถึงประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่