สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ร่วมกันกู้เงินซื้อบ้านก่อนจดทะเบียนสมรสผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

 

 

การที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและจำเลยมีอยู่ก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายและจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งแยกที่ดินแต่ละรายการออกครึ่งหนึ่ง และกำจัดจำเลยมิให้ได้มรดก โดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์โดยปลอดภาระติดพัน หากจำเลยไม่แบ่งแยก หรือแบ่งไม่ได้ หรือไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ให้นำที่ดินทั้งหมดออกขายทอดตลาดนำเงินครึ่งหนึ่งมาแบ่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 ตำบลบางแคเหนือ (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมทาวน์เฮาส์สองชั้นเลขที่ 604/211 หมู่ที่ 3 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วนโดยปลอดภาระติดพัน หากจำเลยไม่ไปทำการแบ่งหรือแบ่งไม่ได้ หรือไม่สามารถโอนได้ให้นำที่ดินออกขายนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 ตำบลบางแคเหนือ (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 หมู่ที่ 3 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์หนึ่งในแปดส่วนโดยปลอดภาระติดพัน ส่วนวิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินในศาลชั้นต้น 19,896 บาท และชั้นอุทธรณ์ 24,718 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่ศาลสั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า นางขนิษฐา โจทก์ และนายสุรเดช เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวอรนุช ผู้ตาย นายสุรเดชและบิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้ตายและจำเลยรับราชการเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีฯ ผู้ตายได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างศึกษาอยู่นั้นผู้ตายเดินทางกลับมาประเทศไทยและจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2535 แล้วกลับไปศึกษาต่อ ผู้ตายเดินทางกลับมาประเทศไทยและพักอาศัยอยู่กับจำเลยตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2537 ไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2547 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งธนบุรีตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยระบุในคำร้องขอว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกรวม 7 รายการ ตามสำเนารายการทรัพย์สินของผู้ตาย ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ได้รับแบ่งมรดกของผู้ตายจากจำเลยเป็นเงิน 210,547 บาท นอกจากทรัพย์สินตามสำเนารายการทรัพย์สินของผู้ตายแล้ว ผู้ตายกับจำเลยยังมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 ตำบลบางแคเหนือ (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 18 ตารางวา พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 หมู่ที่ 3 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยร่วมกันซื้อมาก่อนสมรส ส่วนจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 140868 ตำบลบางแคเหนือ อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 134895 ตำบลบางแคเหนือ อำเภอบางแค (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 198 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 19465 ตำบลบ้านช้าง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ 5 ไร่ 80 ตารางวา ที่ดินทั้งสี่แปลงนี้จดทะเบียนโอนเป็นชื่อจำเลยในระหว่างสมรสกับผู้ตาย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 140868, 134895 และ 19465 เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่งหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาจ้างพัฒนาที่ดินมีพิรุธน่าสงสัย โดยนางแน่งน้อย มารดาจำเลยและจำเลยไม่มีชื่อเกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างพัฒนาที่ดินดังกล่าว แต่นางแน่งน้อยกลับมาแบ่งปันผลประโยชน์ให้จำเลยกับนายเรวัตร น้องชายมากกว่านายชัชวาลย์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเพชรอนันต์ จำกัด และเป็นผู้เข้าทำสัญญาจ้างพัฒนาที่ดินดังกล่าวจึงไม่น่าเป็นไปได้ อีกทั้งเอกสารดังกล่าวไม่ได้ประทับตราและลงลายมือชื่อรับรองจากเจ้าหน้าที่กับไม่ได้กำหนดผลประโยชน์ของผู้รับจ้างที่แน่นอนจึงไม่น่าเชื่อถือ และจำเลยนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดิน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า ตามสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น แผ่นที่ 6 มีชื่อนางแน่งน้อยเป็นผู้ถือหุ้น 19,000 หุ้น จาก 20,000 หุ้น ผู้ถือหุ้นที่เหลือล้วนแต่เป็นบุคคลในครอบครัวของนางแน่งน้อยทั้งสิ้น ถือเป็นธุรกิจในครอบครัวของนางแน่งน้อย และแสดงว่านางแน่งน้อยผู้เป็นมารดาย่อมเป็นผู้มีบทบาทและอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัวดังกล่าว ดังนั้นการที่นายชัชวาลย์ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเพชรอนันต์ จำกัด เป็นผู้เข้าทำสัญญาจ้างพัฒนาที่ดินดังกล่าว โดยนางแน่งน้อยและจำเลยไม่มีชื่อ แล้วต่อมานางแน่งน้อยแบ่งผลประโยชน์ให้แก่จำเลย นายเรวัตรและนายชัชวาลย์ตามที่ปรากฏโดยได้ความตามคำเบิกความของนายชัชวาลย์ว่าเป็นการแบ่งผลประโยชน์ให้แก่คนในครอบครัวตามส่วนและตามความต้องการของมารดา กรณีจึงหาเป็นพิรุธแต่อย่างใดไม่ สำหรับเอกสารสัญญาจ้างพัฒนาที่ดินดังกล่าวระบุว่า นายชัชวาลย์เป็นผู้รับจ้าง มิใช่บริษัทเพชรอนันต์ จำกัด จึงหาจำต้องประทับตราใด ๆ และปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีเจ้าพนักงานที่ดินชำนาญงานซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ได้รับรองถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นอันเพียงพอในการที่จะนำมาแสดงแล้ว นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุถึงผลประโยชน์ของผู้รับจ้างไว้ชัดเจนแล้วว่าผู้ว่าจ้างจะต้องทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้รับจ้างเป็นการตอบแทน ทั้งการนำสืบพยานบุคคล ของจำเลย เป็นการนำสืบถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ในชั้นนี้ไม่ใช่การโต้เถียงเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายแต่อย่างใด กรณีไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

 

 

มาตรา 94 ส่วนที่โจทก์ฎีกาในส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 19465 ว่า จำเลยนำสืบพยานปากนายชุ่มและพยานเอกสาร เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดิน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นอกจากนี้นายเสนาะ พยานจำเลยเบิกความตอบทนายจำเลยและโจทก์ถามค้านว่า เคยเห็นจำเลยและภริยาไปดูที่ ภริยาจำเลยเคยถามอัตราค่าเช่านาจากพยาน หลังจากจำเลยและภริยาซื้อที่ดินที่พยานทำนาแล้ว อนุญาตให้พยานทำนาต่อโดยเก็บค่าเช่าอัตราเดิม จึงน่าเชื่อว่าจำเลยและภริยาร่วมกันซื้อที่ดินมานั้น เห็นว่า การที่จำเลยนำสืบพยานจำเลยปากนายชุ่มและพยานเอกสารดังกล่าวไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดิน ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกับที่ได้วินิจฉัยในฎีกาตอนแรกแล้ว จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 สำหรับนายเสนาะพยานจำเลยอีกปากนั้นก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามติงแล้วว่า ก่อนที่นายชุ่มจะขายที่ดิน พยานเห็นแต่มารดาจำเลยไปดูที่ดินเท่านั้น พยานเห็นภริยาจำเลยไปดูที่ดินหลังจากโอนเป็นของจำเลยแล้ว จำเลยเป็นผู้ให้พยานเช่าทำนาต่อ มิใช่ภริยาจำเลยและจำเลยเป็นคนเก็บค่าเช่า ภริยาจำเลยไม่เคยมาเก็บค่าเช่าตามลำพัง เช่นนี้จึงไม่มีพฤติกรรมที่จะบ่งชี้แสดงว่า จำเลยและภริยาร่วมกันซื้อที่ดินมาดังที่โจทก์ฎีกาอ้างแต่อย่างใด ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 140868 และ 134895 มาจากนางแน่งน้อยกับนางแน่งน้อยเป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 19465 แล้วยกให้แก่จำเลย ที่ดินทั้งสามแปลงนี้ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่งหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าว ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อมาก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร เข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่ผู้ตายกับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยร่วมกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว ที่ดินย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย จำเลยเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับนายปฐม และได้รับโอนมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2536 จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเจือสมกับที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยเคยพาผู้ตายไปดูที่ดินแปลงนี้หลายครั้ง แสดงว่าผู้ตายกับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินแปลงนี้มาด้วยกัน จึงเป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยนั้น เห็นว่า การที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าว ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิมดังที่โจทก์ฎีกานั้น แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงต้องเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้นเมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายและจำเลยมีอยู่ก่อนสมรสจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยฝ่ายละครึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายและจำเลยร่วมกันกู้เงินในการซื้อตอนแรกก่อนการสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เห็นว่า เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายและจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายและจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรสดังที่โจทก์ฎีกามาแต่อย่างใด สำหรับที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 757 ซึ่งจำเลยเบิกความว่าเคยพาผู้ตายไปดูที่ดินแปลงนี้หลายครั้งนั้น เห็นว่า จำเลยได้เบิกความในตอนต่อมาอีกว่า ได้พานายประเสริฐซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานไปด้วย ผู้ตายและนายประเสริฐซึ่งเคยไปเที่ยวด้วยกัน ผู้ตายทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยซื้อที่ดินแปลงนี้โดยมารดาให้เงินมาจึงเป็นสินส่วนตัว เช่นนี้ตามคำเบิกความของจำเลยจึงได้ความว่า จำเลย เพียงพาผู้ตายไปเที่ยวด้วยกันและผู้ตายทราบดีอยู่แล้วว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ข้อฎีกาของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้นจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 เป็นสินส่วนตัวโดยเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายและจำเลยจึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 757 เป็นสินส่วนตัวของจำเลย ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของผู้ตายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยปิดบังทรัพย์สินที่ดิน 5 แปลง โดยไม่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก แสดงต่อศาลประกอบคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและไม่แสดงต่อทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ จำเลยจึงสมควรถูกกำจัดมิให้รับมรดกทรัพย์ที่ปิดบังไว้ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดที่บัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยไม่ได้ระบุทรัพย์สินที่ดิน 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก และจำเลยมีนางขนิษฐา พี่สาวโจทก์มาเบิกความยืนยันว่า ระหว่างจัดงานศพผู้ตาย พยานและญาติพี่น้องรวมทั้งโจทก์ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านจำเลย จำเลยพูดถึงที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ว่าจะขอโอนชื่อเป็นของจำเลย พยานและพี่น้องรวมทั้งโจทก์ไม่มีใครคัดค้าน และพยานทราบจากจำเลยว่า หลังจากผู้ตายไปเรียนต่อต่างประเทศ จำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระค่าทาวน์เฮาส์เพียงผู้เดียว ที่ดิน 2 แปลง ในซอยเพชรเกษม 78 ชาวบ้านยกให้เป็นการตอบแทนการเข้าไปพัฒนาที่ดินแล้วมารดาจำเลยยกให้แก่จำเลย ที่ดินที่จังหวัดสุพรรณบุรีมารดาจำเลยยกให้แก่จำเลย และที่ดินที่เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ มารดาจำเลยให้เงินแก่จำเลยไปซื้อมา ประกอบกับทรัพย์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์นั้น จำเลยร่วมซื้อกับผู้ตายมาแต่ต้นก่อนสมรสโดยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ตาย เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยมิได้ปิดบังทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อทายาทแต่อย่างใด ส่วนทรัพย์ที่ดินอีก 4 แปลง ล้วนแต่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ทั้งไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยปิดบังทรัพย์ที่ดิน 4 แปลงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิน 4 แปลง ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยปิดบังทรัพย์มรดกเช่นกัน จำเลยจึงไม่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 88465 พร้อมทาวน์เฮาส์เลขที่ 604/211 หนึ่งในแปดส่วนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ตาย เมื่อจำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกแล้ว จำเลยจึงต้องแบ่งที่ดินทั้งห้าแปลงให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย และทรัพย์มรดกของผู้ตายในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์เพียงครึ่งหนึ่ง มิใช่เป็นที่ดินทั้งห้าแปลงดังที่โจทก์ฎีกามา ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์พิพาทหนึ่งในแปดส่วนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่