สมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น |
---|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2559 โจทก์บันทึกข้อความหลายตอนลงในสมุดบันทึกที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น ย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่าตามป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่ายถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ จำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามมาตรา 1471 (3) ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปกว่าคำขอของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากัน ให้จำเลยที่ 1 แบ่งสินสมรสให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 หย่ากับโจทก์ กับให้แบ่งสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งทำนองเดียวกับฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ระหว่างพิจารณาคู่ความรับข้อเท็จจริงว่า บ้านเลขที่ 45/2, 45/3, 45/6 โรงจอดรถยนต์ ที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 98/219 หมู่บ้านเดอะวัลเลย์และรถยนต์เก๋ง กต 4081 ภูเก็ต เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และเงินกู้ธนาคารออมสินเป็นหนี้ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ร่วมกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่ากับจำเลยที่ 1 ให้แบ่งสินสมรสตามฟ้องโจทก์ คือ ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 86 หมู่ที่ 3 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ 2 งาน มีสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 45/2, 45/3, 45/6, 45/8 และโรงจอดรถยนต์ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ให้แบ่งสินสมรสตามฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 คือ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 98/219 หมู่บ้านเดอะวัลเลย์ ซอย 8 ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต และรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นอัลติส หมายเลขทะเบียน กต 4081 ภูเก็ต แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจกระทำได้หรือจะทำให้ทรัพย์สินนั้นเสียหายมาก ให้ขายโดยประมูลราคาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อน หากตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดและให้โจทก์และจำเลยที่ 1 รับผิดในหนี้เงินธนาคารออมสินในส่วนเท่าๆ กัน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปีให้แก่โจทก์นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 พฤษภาคม 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้ตกเป็นพับ ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ที่เสียเกินมา 80,000 บาท ส่วนคำขออื่นตามฟ้องโจทก์และตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้แบ่งสินสมรสตามฟ้อง คือ ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 86 หมู่ที่ 3 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ ในส่วนเนื้อที่ประมาณ 2 งาน พร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ บ้านเลขที่ 45/2, 45/3, 45/6 และโรงจอดรถ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ตามแผนที่ท้ายหนังสือสัญญาโอนสิทธิครอบครอง บ้านเลขที่ 45/8 หมู่ที่ 6 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ |
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้วโจทก์มาทำงานที่จังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เดิมรับราชการครู ต่อมาลาออกจากราชการก่อนเกษียณแล้วลงสมัครรับเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 2 เป็นคนมีภูมิลำเนาจังหวัดอุดรธานี มาประกอบอาชีพเปิดร้านเสริมสวยที่ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต โจทก์รู้จักจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2535 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาและจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2543 ก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนสมรสกัน โจทก์มีสามีมาก่อนแล้ว ชื่อ นาย ค. ไม่มีบุตรด้วยกันส่วนจำเลยที่ 1 ก็มีภริยาแล้วชื่อนาง ว. มีบุตรด้วยกัน 2 คน แต่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับนาง ว. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อปี 2551 จำเลยที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 อยู่กินและยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาคนหนึ่งและมีบุตรกับจำเลยที่ 2 ชื่อ เด็กชาย ร. เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2555 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์มีชู้อันเป็นเหตุหย่าตามที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งหรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 คงเป็นเพียงการคาดหมายของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่มีหลักฐานที่ชัดแจ้งหรือเป็นพยานแวดล้อมประกอบให้เห็นว่าโจทก์มีชู้ แต่การที่ในสมุดบันทึก ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าเป็นสมุดบันทึกของโจทก์จริง มีข้อความหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีความรักฉันชู้สาวกับชายอื่น อาทิเช่น วันที่ 5 มีนาคม 2552 มีข้อความว่า "...คิดถึงเค้าจัง วันนี้ทำผิดอีกแล้ว แอบส่ง m. (ข้อความ) ให้กับเค้า...ขอให้รู้เถอะว่า ...เรื่องจริง...คือ ฉันรักเธอ..." ต่อจากนั้นก็มีการติดต่อทางโทรศัพท์ตลอดเกือบทุกวัน ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 โจทก์บันทึกว่า "...2 วันแล้วนะ...คุณไม่โทรเลย คิดถึงกันบ้างหรือเปล่า สำหรับหนู ทุกลมหายใจ" ในวันที่ 28 เดือนเดียวกัน มีข้อความว่า "...วันนี้พี่อาคม... โทร... แต่ไม่ยอมพูด เป็นอะไรของเค้านะ...อยากรู้จังเลย ...ถ้าคุณรักหนูสักครึ่งหนึ่งที่หนูรักเค้าบ้างก้อดี" นอกจากนี้ในสมุดบันทึก มีข้อความว่า มีผู้โทรศัพท์หาโจทก์เกือบทุกวัน โจทก์บันทึกผู้โทรศัพท์ เป็นภาษาอังกฤษว่า เออาร์ (ar) และเมื่อผู้โทรศัพท์เข้ามาดังกล่าวแล้ว ก็จะมีข้อความบันทึกเป็นทำนองเดียวกับข้อความข้างต้น ดังนั้น แม้ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 จะฟังไม่ได้แน่ชัดว่าโจทก์มีชู้ แต่ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวนั้น ย่อมบ่งชี้ว่า ขณะที่โจทก์ยังเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 โจทก์กลับมีใจรักใคร่ ลุ่มหลงชายอื่นฉันชู้สาว อันเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อขนบธรรมเนียมและประเพณีของสังคมไทย ซึ่งชายหญิงที่อยู่กินฉันสามีภริยาตามกฎหมาย ต้องซื่อสัตย์ รักใคร่ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวย่อมทำให้ครอบครัวแตกแยกขาดความปกติสุข อีกฝ่ายหนึ่งต้องมีความทุกข์ทรมาน ถือว่าได้รับความเดือดร้อนเกินควร การกระทำดังกล่าว จึงถือได้ว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้งอ้างเหตุหย่าว่า โจทก์มีชู้ แต่ในคดีแพ่งผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่บรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาให้ชัดแจ้งเท่านั้น ส่วนการปรับบทกฎหมายแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างเหตุหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) แต่เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีที่ได้ความจากการสืบของทั้งสองฝ่าย ถือเป็นเหตุหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแห่งคดีได้ เหตุหย่าคดีนี้จึงเป็นเหตุหย่าที่เกิดขึ้นจากโจทก์ด้วยมิใช่เหตุที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้นศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าทดแทนนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1525 ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วยเมื่อพิจารณาถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยที่ 1 และพฤติการณ์แห่งคดีซึ่งเหตุหย่าเกิดจากการกระทำของโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วยกันทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังมีทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองให้ค่าทดแทนแก่โจทก์ 600,000 บาท นั้น นับว่าสูงเกินไปเห็นควรกำหนดให้ใหม่เป็นเงิน 300,000 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 86 หมู่ที่ 3 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ 2 งาน ที่ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 45/2, 45/3, 45/6 และโรงจอดรถเป็นสินสมรสหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เบิกความว่า เดิมที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 เจ็บป่วย ไม่มีเงินรักษาตัว จึงขอเงินจากโจทก์เพื่อนำไปรักษาตัวที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โจทก์โอนเงิน 350,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นวันที่ 6 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 45/2, 45/3, และ 45/6 ให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เมื่อปี 2551 จำเลยที่ 1 ป่วยเป็นเนื้องอกที่ปอดจำเลยที่ 1 ต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปี โจทก์ต้องการความมั่นคงในชีวิต จำเลยที่ 1 จึงโอนสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวเพียงบางส่วน คือ บริเวณที่ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 45/2, 45/3 และ 45/6 ให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิครอบครองจริง แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกความบ่ายเบี่ยงว่า โจทก์ไม่ได้ให้เงิน 350,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขีดฆ่าทับข้อความในสัญญาข้อ 3 ที่ว่า "350,000 บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และผู้ให้สัญญาได้รับเงินไปครบถ้วนถูกต้องแล้วในวันนี้" ออกก็ตาม แต่การขีดฆ่าก็เป็นการกระทำโดยลำพังของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมและลงลายมือชื่อกำกับการขีดฆ่าข้อความดังกล่าวนั้นด้วย นอกจากนี้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า โจทก์ให้เงิน 350,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นอ้างว่าเงิน 350,000 บาท ที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเป็นสินสมรสที่จำเลยที่ 1 สามารถนำมาใช้จ่ายได้ยิ่งทำให้เห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แต่ไม่ว่าข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 จะเป็นเช่นไรก็ตาม ก็แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาโอนที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 86 หมู่ที่ 3 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ 2 งาน ที่ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 45/2, 45/3 45/6 และโรงจอดรถซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์อันเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) ไม่ใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์กึ่งหนึ่งและศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสพิพากษาให้แบ่งแก่โจทก์ด้วยกึ่งหนึ่งนั้น ฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้แบ่งบ้านเลขที่ 45/8 หมู่ที่ 6 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนของคำฟ้องและคำฟ้องแย้งให้เป็นพับ |
บทความที่น่าสนใจ |
-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร
|