สลากออมสินสามารถนำไปจำนำเป็นประกันเงินกู้ได้

สิทธิซึ่งมีตราสารย่อมหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและเป็นตราสารที่โอนแก่กันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น สลากออมสินพิเศษมีลักษณะเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นหนังสือตราสาร มี พ.ร.บ. และกฎกระทรวงรองรับจึงเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ มิใช่เอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไป สลากออมสินพิเศษจึงเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารที่สามารถจำนำประกันหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 751 จำเลยที่ 1 นำสลากออมสินพิเศษไปจำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำไว้ การบังคับคดีของโจทก์ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนำของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินส่วนที่ได้จากการอายัดสลากออมสินพิเศษในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิก่อนเจ้าหนี้อื่น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2564

 

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 6,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 5,500,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองจะร่วมกันผ่อนชำระเป็นรายเดือน และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องสลากออมสินพิเศษ 3 ปี งวดที่ 93 เลขที่ ก 5169444 ถึงเลขที่ ก 5273443 จำนวน 104,000 หน่วย รวมเป็นเงิน 5,200,000 บาท ของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกันส่วนเงินที่ได้จากการอายัดสลากออมสินพิเศษดังกล่าวแก่ผู้ร้องโจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับผู้ร้องฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ 6,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 5,500,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองจะร่วมกันผ่อนชำระเป็นรายเดือน และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องสลากออมสินพิเศษ 3 ปี งวดที่ 93 เลขที่ ก 5169444 ถึงเลขที่ ก 5273443 จำนวน 104,000 หน่วย รวมเป็นเงิน 5,200,000 บาท ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้กับผู้ร้อง เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม ณ วันที่ 1 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วน จำเลยที่ 1 มียอดหนี้ค้างชำระแก่ผู้ร้องในต้นเงิน 4,914,401.76 บาท ดอกเบี้ย 11,363.58 บาท รวมเป็นเงิน 4,925,765.34 บาทคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 มอบสลากออมสินพิเศษให้แก่ผู้ร้องเพื่อประกันหนี้เงินกู้ เป็นการจำนำสิทธิซึ่งมีตราสารหรือไม่ เห็นว่า สิทธิซึ่งมีตราสารย่อมหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและเป็นตราสารที่โอนแก่กันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น เมื่อได้ความว่าพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 มาตรา 7 ให้จัดตั้งธนาคารออมสินขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจ ดังต่อไปนี้... 2 ออกพันธบัตร และสลากออมสิน... ตามมาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและข้อบังคับเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวง

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ว่าด้วยการรับฝากเงินประเภทสลากออมสินพิเศษ พ.ศ.2547 โดยข้อ 3 ให้ธนาคารออมสินรับฝากเงินประเภทสลากออมสินพิเศษได้ ข้อ 8 (1) ถึง (3) ระบุให้ผู้ฝากมีสิทธิถอนเงิน (4) ขอกู้เงินจากธนาคารออมสินโดยใช้สลากออมสินพิเศษเป็นหลักประกัน ไม่ว่าจะนำมาใช้เป็นหลักประกันทั้งหมดหรือบางส่วน และ (5) โอนกรรมสิทธิ์ในสลากออมสินพิเศษให้แก่บุคคลอื่น โดยสลากออมสินพิเศษตามข้อ 4 (1) ให้ผู้ฝากลงลายมือชื่อของผู้ฝากในสลากออมสินพิเศษ และแจ้งการโอนให้ธนาคารออมสินทราบก่อนโอนกรรมสิทธิ์ สำหรับสลากออมสินพิเศษตามข้อ 4 (2) ให้ผู้ฝากโอนโดยการผ่านการส่งมอบสลากออมสินพิเศษ และข้อ 2 ให้คำนิยามว่า สลากออมสินพิเศษ หมายความว่า หนังสือตราสารที่ธนาคารออมสินออกให้แก่ผู้ฝาก โดยมีข้อสัญญาว่า ถ้าหนังสือตราสารนั้นมีเลขหมายถูกเลขสลากจ่ายคืน ธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเป็นจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ และเมื่อหนังสือตราสารนั้นครบกำหนดอายุธนาคารออมสินจะจ่ายเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย จากพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สลากออมสินพิเศษมีลักษณะเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นหนังสือตราสาร มีพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงรับรองจึงเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ มิใช่เอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไป แตกต่างจากใบรับฝากเงินหรือสมุดบัญชีเงินฝาก ที่เมื่อฝากเงินแล้วเงินดังกล่าวจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝาก ที่ผู้ฝากคงมีเพียงสิทธิเรียกเงินคืนได้เท่านั้น จากเหตุดังกล่าวสลากออมสินพิเศษจึงเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารที่สามารถจำนำประกันหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 751 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 นำสลากออมสินพิเศษดังกล่าวไปจำนำเป็นประกันหนี้กู้เงินแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำไว้ การบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนำของผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันส่วนเงินที่ได้จากการอายัดสลากออมสินพิเศษในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิก่อนเจ้าหนี้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้นพิพากษากลับว่า ให้กันส่วนเงินที่ได้จากการอายัดสลากออมสินพิเศษแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่