แม่ปลอมหนังสือมอบอำนาจลูกไปจดทะเบียนจำนองเพิกถอนสัญญาจำนองไม่หรือไม่

โจทก์เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการซื้อที่ดินพิพาท โดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินพิพาท และหลังจากซื้อที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทไว้ แสดงให้เห็นว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและรับจดทะเบียนจำนอง แสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเอกสารต่าง ๆ ถูกต้อง ทั้งโจทก์ยังเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ แม้หนังสือมอบอำนาจจะเป็นเอกสารปลอม แต่การที่โจทก์มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้ และจำเลยที่ 1 ยังมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ไว้ประกอบหนังสือมอบอำนาจ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสที่จะนำโฉนดที่ดินไปทำนิติกรรมใด ๆ นอกเหนือวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์ต้องรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2563

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9700 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 และวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมด้วยจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9700 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 และวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับโจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9700 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา จำเลยที่ 1 บุตรโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์ เพื่อเป็นประกันเงินกู้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 กระทำการแทนรวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 จดทะเบียนจำนองเป็นเงิน 700,000 บาท ครั้งที่ 2 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เพิ่มวงเงินจำนอง 300,000 บาท และครั้งที่ 3 วันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เพิ่มวงเงินจำนองอีก 500,000 บาท ซึ่งการจำนองครั้งที่ 3 นี้ ไม่มีการมอบเงิน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยอีก 8 แปลง เนื้อที่ตั้งแต่ 88 ตารางวา ถึง 1 ไร่ 17 ตารางวา เพื่อจัดสรรที่ดิน โดยที่ดินแปลงเดิมคงเหลือที่ดินเพื่อทำเป็นทางเข้าออกผ่านที่ดินแปลงย่อยทุกแปลง ต่อมาจำเลยที่ 3 มีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ทวงถามให้โจทก์ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี รวมเป็นเงิน 2,361,574 บาท โจทก์จึงไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่ริม และต่อมามีหนังสือลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 บอกล้างนิติกรรมดังกล่าวส่งให้แก่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่ริมและจำเลยทั้งสามทราบ เพราะโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 3 แต่สำนักงานที่ดินแจ้งว่า ให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาล และโจทก์แจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรแม่ริม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกรับว่าเป็นผู้ปลอมหนังสือมอบอำนาจและปลอมลายมือชื่อของโจทก์ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์ที่โจทก์มอบอำนาจให้

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จำเลยที่ 1 ดำเนินการซื้อที่ดินพิพาท โดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินพิพาท และหลังจากซื้อที่ดินพิพาทก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทไว้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองดังกล่าว ซึ่งกระทำที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาแม่ริม โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ และรับจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง แสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เชื่อว่าเอกสารต่าง ๆ ถูกต้อง ทั้งโจทก์ยังเป็นมารดาจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ แม้หนังสือมอบอำนาจจะเป็นเอกสารปลอม แต่การที่โจทก์มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้และจำเลยที่ 1 ยังมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ สำหรับประกอบใบมอบอำนาจด้วย ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสที่จะนำโฉนดที่ดินไปทำนิติกรรมใด ๆ นอกเหนือวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ จึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์ต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่